ปรึกษาปัญหาชีวิต (สำหรับเจ้าของกระทู้)

1.การปล่อยเงินกู้ 2.การค้ากำไรเกินควร
รายละเอียด
1.การปล่อยเงินกู้ ปกติกฏหมายกำหนดไว้ร้ <อยละ 3 %/ซ้ำเดือน..เเต่ยังเห็นหน่วยงานเเละบางบุคคลที่เขาปล่อยเงินกู้นอกระบบ มากกว่า 3% /เดือน มีถึง 20%/เดือนด้วย โดยถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไป 10%, เเม่ค้า 20% ปัจจุบันเขาเเทบไม่ต้องทำมาหากินอะไร เดินเก็บดอกเบี้ยอย่างเดียวก็อยู่ได้มาหลายปีเเล้ว 2. สินค่้าอย่างเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน เเต่ละคนขายไม่เท่ากัน ทั้ง 100 , 140 , 159 ,199 บาท
ความต้องการ
เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำกันมาหลายชั่วอายุเเล้ว เเละก็เห็นตระกูลนี้ ร่ำรวยกว่าคนอื่น มีชีวิตสะดวกสบายกว่าคนอื่น...สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นบาปหรืออกุศลหรืออย่างไร เพราะเป็นการเอาเปรียบคนอื่น ..(เสมือนกัญชา ในปัจจุบัน Jan.'2019 เดิมเป็นของดำเป็นบาป เเต่รัฐกำลังจะทำให้ถูกกฏหมาย ถือเป็นของขาว) ก็เลยงงว่า อันความดีความชั่ว ใครเป็นคนประเมินกันเเน่
ชื่อผู้ถาม
อาหลิว
วันที่เขียน
3 มกราคม พ.ศ. 2562 21:40:24
จำนวนคนเข้าดู
802

คำตอบ

คำตอบที่ 1
1. ใช้พรหมวิหารธรรม เป็นกรอบในการมอง จะเข้าใจได้ไม่ยากเลย ไม่ว่าเรื่องอะไร กิจกรรม หรือธุรกิจนั้น ๆ เป็นการทำด้วยความเมตตา กรุณา มุทิตา ต่อกัน ไหม ถ้าไม่ ก็ไม่ใช่กุศลแล้ว ถ้าเมตตา กรุณา มุทิตา คือ รัก หวังดี ปรารถนาดี ต้องการให้สิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับคนอื่น ช่วยให้คนอื่นมีคุณภาพชีวิตที่ดี คนก็จะไม่ทำธุรกิจในลักษณะที่ตรงกันข้ามกับพรหมวิหารธรรม (ปล่อยกู้ หรืออะไรอื่น ๆ ) ในลักษณะเอาเปรียบ ทำร้าย ทำลายคนอื่น หลอกคนอื่น บังคับขูดรีดคนอื่นเลย 2. ต้องแยกให้ออก "ความร่ำรวย ความสะดวกสบาย กับ บุญ กุศล ศีลธรรม" มันเป็นคนละอย่างกัน การทำตัวให้รวย มีหลายวิธี ทั้งแบบที่ถูกศีลธรรม และผิดศีลธรรม คนที่ปล้นคนอื่น โกงคนอื่น ทุจริตต่าง ๆ ก็รวยได้ ไม่แปลกอะไร แต่มันเป็นกุศลไหม เป็นบาปไหม เป็น แล้วทำไมยังมีคนทำ เพราะความมืดบอดของคน ๆ นั้นเอง ทำให้เขาต้องทำแบบนั้น ระบบความคิดที่ครอบงำเขาอยู่ คือ เกิดมา ต้องมุ่งสะสมทรัพย์วัตถุ เช่น เงิน ทอง ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ให้มาก ๆ มากกว่าใคร ๆ ยิ่งดี มากกว่า อริยทรัพย์ (ทาน ศีล ภาวนา) ถ้าเรามอง โดยเพ่งที่ "ความรวย ความจน" เป็นใหญ่ เราจะมองมาในแนว.. ทำไม เขาทำผิด ทำบาป ยังรวยได้ ยังสุขสบาย มีคนนับหน้าถือตาเยอะแยะ (เราต้องดูต่อไปว่า คนโดยส่วนมากในสังคม สนใจแต่ความรวยความมั่งคั่งทางวัตถุ เมื่อโลกเป็นแบบนี้ ก็สนใจแต่แง่มุมนี้) 3. เรื่องกัญชา คือ พืชชนิดหนึ่ง เหมือนพืชอื่น ๆ มันอยู่ที่ใครจะรู้จักมันดีพอและนำมาประโยชน์ด้านไหน ในช่วงเวลาหนึ่ง สังคมหนึ่ง ๆ มีภูมิปัญญาจำกัด ความรู้ไม่มากพอ ก็อาจมองว่า กัญชา ไม่ดี ดำ ต่ำ เป็นโทษ ก็ทำให้เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่ง เห็นว่า บางอย่างในพืชนั้น มีประโยชน์ในการบำบัดรักษาโรคบางอย่างในมนุษย์ได้ ก็นำมาใช้ประโยชน์ ก็แก้ให้ถูกกฏหมาย (แต่คงไม่ได้แก้แบบเปิดเสรี ให้ใครก็ได้มาปลูก เสพ คงมีกรอบอยู่ว่า ปลูกเพื่ออะไร และใครมีสิทธิปลูกบ้าง) เราต้องมองให้ออกเช่นกันว่า กิจกรรม หรือธุรกิจในโลกนี้ บางอย่างถูกทั้งกฎหมายทั้งศีล แต่บางอย่างถูกกฎหมาย แต่ไม่ถูกศีล บางอย่าง ถูกศีล แต่ไม่ถูกกฎหมาย ก็มี แม้ไม่ใช่กัญชา พืชอื่น ๆ ก็เช่นกัน มันอยู่ที่สังคม (คนที่กุมอำนาจรัฐ/ราชการ/ระบบสังคม/สติปัญญาและความสามารถของคนในสังคม ในขณะนั้น ๆ มีขนาดไหนในการเข้าถึงสารต่าง ๆ ในพืชนั้น ๆ แล้วนำมาใช้ประโยชน์ รวมถึงความสามารถในการจัดการด้วย) 4. ข้อสรุปที่สงสัย "ความดี ความชั่ว ใครเป็นคนประเมิน" ในระบบคำสอนพุทธศาสนา ดี ชั่ว เป็นสิ่งที่มีอยู่โดยธรรมชาติ ไม่มีใครสร้าง ไม่มีใครบัญญัติ ไม่มีใครแต่งตั้ง แต่มันดี และ ชั่วโดยสภาพจริง เพียงแต่ใครจะค้นพบ ใครจะเชื่อ ใครจะนำมาปฏิบัติแค่นั้นเอง ใครประเมินดีชั่ว ก็คนแต่ละคน และแต่ละสังคมนั่นเองประเมิน อาจประเมินแบบหลักกู (ที่คิดเอาเอง+ชอบ) แบบหลักกฎหมาย แบบหลักศีลธรรม คน ๆ หนึ่ง อาจประเมิน ดี ชั่ว ไม่เหมือนกัน และไม่เท่ากัน สังคม ๆ หนึ่ง อาจประเมิน ดี ชั่ว ไม่เหมือนกัน และไม่เท่ากัน แม้คน ๆ นั้น และสังคมนั้น ในเวลาใดเวลาหนึ่งอาจประเมิน ดี ชั่ว ไม่เหมือนกัน และไม่เท่ากัน แต่ถ้าใช้หลักการทางพุทธศาสนาแล้ว เราจะไม่ได้สนใจเลยว่า คน หรือ สังคมจะประเมินอย่างไร ดี มันก็ดี ชั่วมันก็ชั่วอย่างนั้นตามธรรมชาติของมัน ทำดี ก็เป็นสิ่งดี ทำชั่ว ก็เป็นสิ่งชั่ว อยู่นั่นเอง ดูตรงนี้ประกอบ https://buddhisthotline.com/index.php?page=frmnews6&newsid=190 และตรงนี้ ชีวิตของเรา ไม่ว่าจะด้านดีหรือไม่ดี ก็เป็นบทเรียนให้คนอื่นได้ ชีวิตคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นด้านดีหรือด้านไม่ดี ก็เป็นบทเรียนให้เราได้ มันอยู่ที่ว่า เรารู้จักมองไหม เขาคนนั้นรู้จักมองไหม ตา มองให้เห็นจริง หู ฟังให้ได้ยินจริง ร่างกายสัมผัส ให้รู้จริง ๆ ธรรมะมีอยู่ทุกที่ ทุกลมหายใจเข้าออกของคนเรา ธรรมะ เป็นของฟรี ไม่ต้องซื้อ ขายให้กันไม่ได้ แค่เราใช้จิตของเราลงทุน ตั้งใจ ฝึกหัดและสร้างมันขึ้นมาในจิตของเรา คนอื่นยกธรรมะให้เราไม่ได้ ไม่มีใครสร้างธรรมะให้ใครได้ เราต้องฝึกเองทำเอง เหล่านี้คือธรรมะ สติ รู้ตัวจริงทุกขณะ ทุกอิริยาบถ สมาธิ ตั้งมั่นจริง ปัญญา รู้จริง วิริยะ ลุยทำจริง ขันติ อดทนได้จริง เมตตา รักชีวิตอื่นจริง กรุณา ช่วยเหลือชีวิตอื่นจริง มุทิตา ชื่นชมชีวิตอื่นจริง อุเบกขา ยึดหลักเที่ยงธรรมได้จริง แต่ละวัน ฝึกจิตตัวเอง ให้มั่นคง คล่องแคล่ว ว่องใจ แจ่มใสในธรรมะ ฝึกจิตให้เป็นอิสระ ไม่ให้จิตเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้ " ความเหงา เศร้า ว้าเหว้ ซึม ท้อแท้ เสียใจ น้อยใจ เครียด แค้น เคือง จองเวร ผูกเวร คับแค้น โกรธ หงุดหงิด โมโห เก็บกด อิจฉา ริษยา เพ้อ ร้องไห้ คร่ำครวญ อยากตาย ไม่อยากอยู่ วิตก ฟุ้งซ่าน เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ มักมาก หลงติด เสพติด ยึดติด ถือตัว กระด้าง เกียจคร้าน มักง่าย ติดสบาย สำออย สำอาง"
ชื่อผู้ตอบ
อาจารย์ผู้ให้คำปรึกษา 99
วันที่เขียน
3 มกราคม พ.ศ. 2562 22:11:03
ทั้งหมด 1 รายการ
1 / 1
อ่านป้ายฉลากยา 10,000 รอบ แต่ไม่กินยา มันก็คงรักษาโรคอะไรไม่ได้
เช่นกัน แม้ว่าจะอ่านหนังสือ 10,000 เล่ม ฟังเทศน์ 10,000 เรื่อง ปรึกษาผู้รู้ 10,000 คน ประโยชน์ก็มีเพียงน้อยนิด
หากเราไม่ลงมือทำ ไม่ลงมือปฏิบัติ ไม่พยายามทำ การมัวแต่คิดอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ไปเฉยๆ จะมีผลสำเร็จอะไร