สัมปะชาโน สติมา

ก่อนสร้างหนี้ ก่อนกู้เงิน ก่อนยืมเงิน ตรวจดูตัวเองให้ละเอียด
ก่อนสร้างหนี้ ก่อนกู้เงิน ก่อนยืมเงิน ตรวจสอบดูตัวเองให้ละเอียด

หนี้เหมือนไม้ขีดไฟ ไม้ขีดไฟแม้จะก้านเล็ก ๆ ก้านเดียวก็สามารถเผาบ้านทั้งหลังเผาเมืองทั้งเมืองได้
หนี้ก้อนเล็ก ๆ ก็ทำให้คนที่ก่อหนี้ เดือดร้อน ฉิบหาย สิ้นเนื้อประดาตัวได้
ก่อหนี้ ยืมเงินก็เหมือนกำลังเล่นกับไฟ ถ้าบริหารจัดการไม่ได้ ไฟคือหนี้นี้จะเผาตัวเราทั้งเป็น

ตรวจสอบตัวเอง
เมื่อกู้มาแล้ว เมื่อสร้างหนี้แล้ว เมื่อยืมคนอื่นแล้ว
เรามีความสามารถหาเงินคืนเขาได้จริง ๆ หรือไม่ 
อย่าให้ความอยากได้ อยากมี มาปิดบังความเป็นจริงที่แท้
อย่าหลอกลวงตัวเอง อย่าปล่อยให้ตัวเองมืดบอดจนไม่มองดูความเป็นจริง
อย่าเป็นทาสของความอยากได้อยากมี จนเกินไป
อย่ามักง่าย จนไม่ดูรายละเอียดตัวเลขเงินกู้ ดอกเบี้ย และค่าปรับต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการสร้างหนี้

ก่อนสร้างหนี้ ให้ทำบัญชีง่าย ๆ แบบนี้ 

1. ปัจจุบันแต่ละวัน/แต่ละเดือน เรามีรายได้เท่าไหร่ รายจ่ายเท่าไหร่ รายเก็บเท่าไหร่ และจะกันไว้เอาไปใช้หนี้เท่าไหร่

2. (สมมุติ แต่มักเกิดขึ้นจริงกับคนก่อหนี้จำนวนมาก) ถ้าเราไม่มีรายได้ 3 เดือนติดกันขึ้นไป เราหาเงินไม่ได้เลย ไม่มีเงินคืนให้เขาเลย เราจะทำอย่างไร 

เรามีแผนสำรองไว้สัก 3 แผนไหม แผนที่ 1...2...3... คืออะไร 
(การคิดไปกู้คนอื่น ๆ อีกเพื่อเอามาใช้หนี้อีกต่อหนึ่ง ไม่ถือว่าเป็นแผนที่ดี, การหวังพึ่งคนอื่น ๆ เช่น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ไม่ถือว่าเป็นแผนที่ดี)

คิดไว้บ้าง เมื่อเราไม่มีเงินคืนเขาตามสัญญา เจ้าหนี้เขาจะทำอย่างไรกับเรา เขาจะพูดอย่างไรกับเรา เราพร้อมจะยอมรับการกระทำของเขาได้หรือไม่
และเราต้องไม่ลืมว่า บางทีเจ้าหนี้ก็ไปกู้ยืมคนอื่นมาอีกที เขาก็ต้องหาเงินไปคืนคนอื่นเช่นกัน


หลายชีวิต อยากรวยไว ๆ อยากได้เร็ว ๆ อยากมีมาก ๆ  จึงสร้างหนี้ ก่อหนี้ ยืมเงิน กู้เงิน
และสุดท้ายก็ไม่สามารถหาเงินมาคืนเจ้าหนี้ได้ ดอกเบี้ยก็สะสมเพิ่มขึ้นทุกวัน  ค่าปรับต่าง ๆ ยิบย่อยจิปาถะก็ตามมานับไม่ถ้วน
จึงเครียด เดือดร้อน ทุกข์กายทุกข์ใจ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่อยากพบปะผู้คน
จิตเศร้าหมอง  มองว่าตัวเองแย่ ไร้ความสามารถ ล้มเหลว  รู้สึกอับอาย รู้สึกขายหน้า เมื่อมีคนมารู้และไปพูดต่อ ๆ ไปว่าเราเป็นหนี้ ไม่อยากรับรู้อะไร ไม่อยากมีความรู้สึก ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป  อยากตายไปให้พ้น ๆ  จากภาวะแบบนั้น

ถามตัวเอง เราพร้อมจะสร้างหนี้ เพื่อจะได้ประสบเหตุการณ์แบบนี้หรือ ?

เตือนตัวเอง เมื่อเราไม่มีเงิน เมื่อเราไม่พร้อม
อยากได้อะไรก็ช่าง อยากมีอะไรก็ช่าง  ยังไม่ต้องซื้อ ยังไม่ต้องมี ทำงานเก็บเงินให้ได้ก่อนค่อยซื้อก็ได้

เตือนตัวเอง ใช้เงินของเราเองดีกว่าใช้เงินกู้จากคนอื่นมาซื้อของ
เตือนตัวเอง ชีวิตนี้ รวยช้าก็ได้ รวยน้อยก็ได้ ไม่รวยก็ได้ ขอให้ไม่เป็นหนี้ก็พอแล้ว
เตือนตัวเอง สิ่งของต่าง ๆ ไม่มีก็ได้ ไม่ทันสมัยก็ได้ ไม่ใหม่ล่าสุดก็ได้ จะตกรุ่นก็ได้ เชยก็ได้
เตือนตัวเอง ไม่จำเป็นต้องมีเหมือนคนอื่นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเหมือนกับคนอื่นก็ได้

นึกถึงคำที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้นานกว่า 2600 ปีมาแล้วที่ว่า 
"อิณาทานัง ทุกขัง โลเก การก่อหนี้ เป็นทุกข์ในโลก"
ทุกข์ทั้งคนก่อ เพราะต้องหามาคืนเขา
ทุกข์ทั้งคนให้กู้ยืม เพราะต้องตามต้องทวง อาจพูดจาหยาบคายเกี้ยวกราดต่อกัน อาจทะเลาะและทำร้ายกัน
ทุกข์ทั้งคนในครอบครัวรอบข้างของทั้งสองฝ่าย ทุกข์ทั้งสังคม เพราะคนมีหนี้มาก ๆ อาจหน้ามืด ไปทำอะไร ๆ ที่เลวร้ายได้เสมอ

ไม่อยากทุกข์ ไม่อยากเครียด ไม่อยากรู้สึกว่าด้อยค่า ไม่อยากล้มเหลว
อย่าไปก่อหนี้ อย่าไม่ยืมเงินใคร อย่าไปเอาเงินคนอื่นมาซื้อของเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง

บัตรเครดิต บัตรเงินด่วน บัตรเงินผ่อน ต้องระวังที่สุด
ถ้ารายได้ต่อเดือนของเรายังน้อยอยู่คือยังได้ไม่ถึง 200 เท่าของรายจ่าย (หรือคิดง่าย ๆ เพื่อเตือน กั้นและห้ามตัวเองไว้คือ ถ้ามีรายได้ไม่ถึง 20 ล้านบาท/ปี) อย่าไปมีบัตรพวกนี้ ให้อยู่ห่าง ๆ ไว้
อย่าไปคิดใช้บัตรพวกนี้ซื้อของ อย่าใช้บัตรพวกนี้รูดเงิน อย่าคิดและหวังไปทำบัตรพวกนี้เพื่อนำมารูดเงิน จะเป็นเหยื่อเขาเปล่า ๆ

ถ้าจะมีบัตรพวกนี้ ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่รายได้ของเรามีมากกว่ารายจ่าย 200 เท่าขึ้นไปเท่านั้น
และให้ใช้บัตรพวกนี้ในกรณีจำเป็นจริง ๆ เช่น เมื่อเดินทางไปต่างประเทศ หรือเขาไม่รับเงินสด เป็นต้น

การไม่สร้างหนี้ ไม่ก่อหนี้ ไม่ยืมเงินใคร ดีที่สุด
ชีวิตปลอดภัยมากกว่า ครอบครัวสงบสุขมากกว่า แม้ว่าจะไม่หรู หรือไม่ทันสมัยก็ช่าง

มีสติในการใช้ชีวิต และเตือนตัวเองตลอดเวลา
คนอื่น เขาจะคิดอย่างไร จะทำอย่างไร นั่นเป็นเรื่องของเขา 
ไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่เกี่ยวกับเรา เขาต้องรับผิดชอบเขาเอง
แต่ชีวิตเรา เราต้องรับผิดชอบของเราเอง อย่าไปหวังพึ่งใคร
ไม่ต้องไปเลียนแบบใคร และเราจะต้องมีสติตลอดเวลา
ไม่ให้ชีวิตต้องพลาดไปก่อหนี้ตกเหวเหมือนคนอื่น ๆ

ถ้าขณะนี้ เราไปสร้างหนี้ ก่อหนี้ไว้แล้ว จะทำอย่างไร
ดูตัวอย่างปัญหาและแนวทางวิธีแก้ไขปัญหาของคนอื่น ๆ ตามนี้
เขียนโดย : สายด่วนชาวพุทธ
เขียนเมื่อ : 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
อ่าน : 2927

สัมปะชาโน สติมาอื่นๆ