หมายเหตุ สายด่วนชาวพุทธ

นับถือพุทธศาสนามาโดยตลอด ถ้าจะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น จะบาปไหม ?
ครอบครัวพ่อแม่นับถือพุทธศาสนามาโดยตลอด ถ้าจะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น จะบาปไหม ?
เราต้องชัดเจนก่อนว่า บาปคืออะไร
บาปคือสิ่งร้อน ทำแล้วมีเรื่องเดือดร้อนตามมาแน่  บาปคือสิ่งเศร้าหมอง คือของไม่สะอาด
ส่วนบุญคือสิ่งตรงกันข้ามกับบาป เป็นสิ่งเย็น ไม่เดือดร้อนตามมา ไม่เศร้าหมอง และสะอาดทั้งกาย ปาก และใจ
มนุษย์เรานั้นไม่ว่าจะอยู่ในส่วนใดประเทศใดของโลกนี้ ทำบุญทำบาปได้ทั้งนั้น จะบาปก็เพราะทำอกุศล 10 และจะเป็นบุญก็เพราะทำกุศล 10 (ทำข้อใดข้อหนึ่ง ก็เป็นบาปหรือบุญทันทีในเรื่องนั้น ๆ )

อกุศล ความชั่วทางกาย 3 อย่าง
1. ปาณาติบาต หมายถึง การฆ่า การเบียดเบียน ห่มเหง รังแก ทุบตี ชีวิตคนและสัตว์ต่าง ๆ 
2. อทินนาทาน หมายถึง การเอาหรือถือครองทรัพย์ที่เจ้าของเขาไม่ได้ยกให้เรา เช่น โกง ยืมแล้วไม่คืน ยึด หลอกลวง ขู่ จี้ ปล้น ลักขโมยทรัพย์สินของคนอื่น ใช้สินค้ามีลิขสิทธิ์ต่าง ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ขึ้นมา เป็นต้น
3. กาเมสุมิจฉาจาร หมายถึง การประพฤติผิดทางกาม ได้แก่ การไปมีความสัมพันธ์ทางเพศ (อวัยเพศ ทวารหนัก หรือปาก) กับคนที่มีคู่ครองหรือคนที่มีพ่อแม่ดูแลอยู่ หรือคนที่ถือศีลปฏิบัติธรรม

อกุศล ความชั่วทางวาจา 4 อย่าง
1. มุสาวาท หมายถึง พูดเท็จ พูดโกหก หลอกลวง พูดไม่มีมูลความจริง รวมถึงทำเอกสารปลอม เขียนหรือประกาศ Post ข้อความเท็จต่าง ๆ
2. ปิสุณวาจา หมายถึง พูดส่อเสียด พูดยุยง ยั่วยุให้คนแตกแยกทะเลาะกัน
3. ผรุสวาจา หมายถึง การพูดคำหยาบ ไม่สุภาพ ประเภท ด่า แขวะ กระทบกระเทียบแดกดันใส่คนอื่น
4. สัมผัปปลาปะ หมายถึง การพูดเพ้อเจ้อ เลื่อนลอย ไม่มีเหตุมีผล

อกุศล ความชั่วทางใจ 3 อย่าง
1. อภิชฌา หมายถึง ความละโมบหรือโลภ จ้องจะเอาได้ของของผู้อื่นมาเป็นของตน คิดให้คนอื่นเขาเสื่อมเสียฉิบหาย คิดแช่งคนอื่่นให้บาดเจ็บล้มตาย
2. พยาบาท หมายถึง การคิดร้ายต่อผู้อื่น แค้นเคือง อาฆาตมุ่งที่จะทำลายประโยชน์และความสุขของผู้อื่น
3. มิจฉาทิฏฐิ หมายถึง การเห็นผิดจากธรรม เห็นว่าทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี มารดาบิดาไม่มีบุญคุณ ไม่เชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม ไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ ไม่เชื่อเรื่องนิพพาน มีจริง  เป็นต้น

การเปลี่ยนจากพุทธไปนับถือศาสนาอื่น จัดเข้าในอกุศล ความชั่วทางใจ ข้อที่ 3 คือ มิจฉาทิฐิ คือมีความเข้าใจผิด ๆ เห็นผิด ๆ รับข้อมูลผิด ๆ

เพราะพุทธศาสนา เน้นเชื่อกรรม คือการกระทำ และผลของกรรม เน้นเชื่อว่า เราทำบุญหรือบาป ก็จะมีผลแน่นอน เน้นเชื่อในศักยภาพมนุษย์ว่า สามารถพัฒนาได้ ไม่ต้องไปอ้อนวอนให้ใครมาดลบันดาลความสำเร็จให้เรา
ส่วนศาสนาอื่น ๆ เขาเชื่อและเน้นว่ามีพระเจ้ามาช่วย ไม่เน้นให้เชื่อตัวเอง ไม่เน้นให้เชื่อในศักยภาพมนุษย์เอง

การมีความเห็นที่ผิด ก็จะนำไปสู่การกระทำที่ผิดพลาด คือจะเกาะพระเจ้า หวังพึ่งพระเจ้า ไม่มีอิสระ ไม่รู้จักโต พัฒนาศักยภาพตัวเองไม่ได้
แต่อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ คนแม้จะบอกว่าตัวเองเป็นพุทธ แต่จริง ๆ ไม่ได้ปฏิบัติไม่ได้ศึกษาแบบพุทธเลย ก็เท่ากับไม่ได้เป็นชาวพุทธ ก็เหมือนเป็นคนนอกศาสนานั่นเอง สาระอยู่ที่ตรงนี้ จะเป็นแบบแท้ ๆ หรือเป็นพุทธเพียงชื่อ

ในระดับพิธีกรรมนั้น คนอาจไปร่วมกิจกรรมของหลายศาสนาได้ แต่เบื้องลึกระดับการปฏิบัติทางจิตแล้ว เป็นไปไม่ได้แน่นอน เพราะหลักการต่างกัน เราชาวพุทธ เชื่อเรื่องกรรมคือการกระทำ กับผลของกรรม และเหตุปัจจัยที่เกี่ยวเนื่อง ไม่เชื่อว่าจะมีพระเจ้ามาช่วยให้รอด และเป้าหมายท้ายที่สุดของชาวพุทธคือปฏิบัติทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองเป็นอิสระ มีชีวิตที่ปราศจากการครอบงำของโลภะ โทสะ และโมหะ  ซึ่งเรียกกันว่า นิพพาน นั่นเอง แปลว่า เป็นอิสระที่สุด ไม่มีเหตุปัจจัยให้ต้องมาเกิดมาเวียนว่ายเป็นสุขทุกข์อีกแล้ว
 
สำหรับพระเจ้าหรือเทวดา (เทวดาและพรหม) ชาวพุทธ มองเห็นเป็นเพียงสภาพชีวิตแบบหนึ่งที่มีความสุขอีกระดับ (สูงกว่ามนุษย์)  และพระเจ้าหรือเทวดาเมื่อหมดอำนาจบุญก็ต้องวนเวียน เกิดตายใหม่ได้เช่นเดียวกัน ไม่จบไม่สิ้น จึงไม่ใช่สิ่งสลักสำคัญอะไร

ชีวิตเทวดา มนุษย์ หรือสัตว์ทั่วไปจึงไม่ยั่งยืนนาน ผันแปรไปตามกรรมของตัวเอง ไม่แตกต่างกันแต่อย่างใด
 
สำหรับคนที่พอจะเข้าใจพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างลึกซึ้ง จนเปล่งคำว่า " พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ  ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ"  ออกมาจากจิตใจอันบริสุทธิ์แน่วแน่กล้าหาญแล้ว จะศรัทธามั่นคง ไม่หวั่นไหว แม้ว่าจะทุกข์ยาก จะจน จะอด จะเจ็บ จะป่วยจวนสิ้นลม  หรือใครเอาเงินทองมาล่อมามอบให้เป็นหมื่นล้านแสนล้าน ก็ไม่มีวันที่เขาจะทิ้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไปนับถือศาสนาอื่นแน่นอน
 
ชาวพุทธเรา ในแต่ละวัน ถ้าตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ และพยายามทำให้สิ่งเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ๆ ทุกวัน ๆ จะไม่มีวันตกต่ำแน่นอน  สิ่งเหล่านี้ คือ
1. เรามีศรัทธาที่ถูกต้องหรือยัง
2. เราศีลหมดจดพอหรือยัง
3. เรามีสติมากพอหรือยัง
4. เรามีวิริยะคือความเพียรมากพอหรือยัง
5. เรามีสมาธิเพียงพอหรือยัง
6. เรามีปัญญาเพียงพอหรือยัง

ส่วนเรื่องประเพณีชาวพุทธในประเทศไทย หรือเรื่องพฤติกรรมพระสงฆ์ที่ไม่ดีไม่งามต่าง ๆ เราไม่ควรเอามาปนกับ "ความเป็นพุทธะที่แท้" เราต้องแยกแยะและมองให้ออก อย่าเอามาคิดปนเปจนเป็นสิ่งเดียวกัน แล้วพอเห็นข่าวพระสงฆ์ทำอย่างโน้นอย่างนี้ที่ไม่ดีไม่งามแล้วก็เครียดไปเปล่า ๆ ใครทำดี ก็ได้ดี ใครทำไม่ดี ก็ได้ไม่ดีแน่นอน ดีหรือไม่ดีเป็นเรื่องส่วนตัวของใครมัน เรื่องพระสงฆ์ทำตัวไม่เหมาะสมต่าง ๆ ก็ปล่อยให้องค์กรหรือบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารจัดการไป เราก็ทำหน้าที่ของเรา อยู่ของเราไป หรือถ้าเราจะช่วยได้ก็คอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระสงฆ์ที่มีพฤติกรรมที่ไม่น่าเจริญศรัทธาเหล่านี้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไป

ไม่มีใครไปทำให้ใครเป็นคนดีได้
คนทุกคนต้องดูตัวเองและทำตัวเองให้ดีเอง
เขียนโดย : สายด่วนชาวพุทธ
เขียนเมื่อ : 3 กันยายน พ.ศ. 2557
อ่าน : 4570

หมายเหตุอื่นๆ

When one lacks mindfulness, they can commit any kind of evil deed.
เขียนเมื่อ : 15 เมษายน พ.ศ. 2567 (เปิด29)
If suicidal thoughts or a desire to end your life arise, swiftly dismiss them within three seconds.
เขียนเมื่อ : 5 เมษายน พ.ศ. 2567 (เปิด49)
What to Do When Hearing News of Suicide
เขียนเมื่อ : 5 เมษายน พ.ศ. 2567 (เปิด47)
Protective Chant against Suicide
เขียนเมื่อ : 5 เมษายน พ.ศ. 2567 (เปิด52)