หมายเหตุ สายด่วนชาวพุทธ

ทำอย่างไร เมื่อเบื่อหน่าย เบื่อคน เบื่อสิ่งของ เบื่อสภาพแวดล้อม
การเบื่อหน่าย เกิดจากการไม่ชอบสิ่งที่มีอยู่ ไม่ชอบคนที่เราพบเจออยู่ ไม่ชอบสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ เป็นการปฏิสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่าย คือเรา กับสิ่งภายนอก (ทั้งวัตถุ สิ่งของ สภาพแวดล้อม และคน)

ทำไม เราจึงเบื่อหน่าย
เพราะการยึดติดของเราเอง เรายึดติดอะไร
1. เรายึดติดตัวเรา ยึดติดความคิด ความรู้สึก ความเคยชิน ยึดติดความชอบ ความถูกใจ ความพึงพอใจของเรา
2. เรายึดติดวัตถุ สิ่งของ สภาพแวดล้อม และคนอื่น ๆ ทั้งด้านดีและไม่ดีของสิ่งนั้น ๆ ของบุคคลนั้น ๆ

ทำไม เราจึงชอบหรือไม่ชอบ ถูกใจ ไม่ถูกใจ ติดใจ ไม่ติดใจ
เพราะเรายังมีโมหะ คือการไม่รู้ตรงตามความเป็นจริง ยังความหลง หลงทั้งตัวเอง หลงสิ่งอื่น หลงบุคคลอื่น เพราะหลง จึงยึดติด
อะไรที่ชอบ ก็อยากมีมาก ๆ อยากมีบ่อย ๆ อยากมีนาน ๆ ไม่อยากให้ไปไหน
อะไรที่ไม่ชอบ ก็ไม่อยากมี ไม่อยากเจอ ไม่อยากพบ อยากให้ไปไกล ๆ

เมื่อได้พบสิ่งที่ชอบใจ ถูกใจ เราก็สมหวัง สุขใจ ปลื้มและเกิดการยึดติด ไม่อยากให้ห่างไกล อยากเสพสุขแบบนั้นไปเรือ่ย ๆ  ก็เลยยึดติดแบบนั้น เมื่อสิ่งที่เราชอบหายไป เปลี่ยนไป เราจึงเสียใจ เศร้าใจ ผิดหวังและถ้าไม่ฝึก ก็จะทำใจไม่ได้ จะคร่ำครวญร้องไห้เหงาซึมเศร้า

เมื่อได้พบสิ่งที่ไม่ชอบใจ ไม่ถูกใจ เราก็เครียด อึดอัด ผิดหวัง ต้องการหนี ต้องการไปให้พ้น ต้องการผลักออก เกิดการยึดติด คือต้องห่างออกไป ไม่อยากเจอ ไม่อยากพบ ไม่อยากเกี่ยวข้อง

สรุปว่า การยึดติดทุกอย่าง ไม่ว่าจะสิ่งที่เราชอบหรือไม่ชอบ มาจากโมหะ คือความไม่รู้จริง ไม่รู้เท่าทันความเป็นจริงของสิ่งที่เราไปเกี่ยวข้อง หรือแยกแยะความจริงที่แท้จริง กับความจริงสมมุติที่เราคุ้นเคยไม่ได้

เราจะรู้เท่าทันความจริง จะรู้ถึงเหตุปัจจัยความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างไร
มีหนทางเดียวเท่านั้น คือต้องมีสติ ที่ละเอียด ที่รู้เท่าทัน
"สติ" นั้น มีความหมายละเอียดและลึกกว่าคำว่า สติ ที่คนพูดกันทั่วไป และไม่ใช่ สติปัญญา แบบที่คนพูดกันในชีวิตประจำวันด้วย

ถ้าไม่ฝึกสติ ก็ยากที่จะรู้เท่าทัน การเข้าใจแต่รู้ไม่ทัน เรียกว่า ขาดสติ
คนขาดสติ จะมีโอกาสทำผิดพลาดได้มาก ทำผิดพลาดได้ทุกโอกาส

การฝึกสติ ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความพยายาม และต้องมีความต่อเนื่องเพียงพอ (อยู่ที่พื้นฐานทางจิตของแต่ละบุคคลว่าเคยฝึกเคยสะสมสติมามากเพียงใด)
ดังนั้น เมื่อเราต้องการเอาชนะความเบื่อหน่าย ต้องการอยู่เหนือความเบื่อหน่าย ทั้งสิ่งที่เราชอบและไม่ชอบ
เราต้องฝึกสติทันทีเลย ไม่ต้องไปรอคนอื่น ไม่ต้องไปเรียกร้องให้คนอื่นทำ แต่เราลงมือทำเองเลย
เพราะยิ่งฝึกยิ่งทำ เรายิ่งมีสติดี เมื่อมีสติดี จะมีความทุกข์น้อย มีความสุขมาก ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกใจเราหรือไม่ถูกใจเราก็ตาม ไม่ว่าจะพบกับสิ่งที่ถูกใจเรา ไม่ถูกใจเราก็ตาม ไม่ว่าจะพบกับคนที่ถูกใจเราไม่ถูกใจเราก็ตาม

การอยู่คนเดียว ให้ถือว่าเป็นโอกาสอันดี ให้เราได้ฝึกสติได้ง่าย
อยู่คนเดียว มีความสุขได้ และเป็นความสุขที่ละเอียด ประณีต สงบดีด้วย ไม่วุ่นวาย

คนเราสามารถฝึกสติได้ทุกวินาทีทุกเวลา ฝึกสติตามนี้ แล้วเราจะสามารถจัดการกับความเบื่อหน่ายของตนเองได้
http://buddhisthotline.com/index.php?page=frmnews6&newsid=143
เขียนโดย : สายด่วนชาวพุทธ
เขียนเมื่อ : 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
อ่าน : 4305