หมายเหตุ สายด่วนชาวพุทธ

ไปปฏิบัติธรรม มีเรื่องต้องระมัดระวังเช่นกัน
ไปปฏิบัติธรรม มีเรื่องต้องระมัดระวังเช่นกัน

1. คนไปปฏิบัติธรรมบางคน (โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาในครอบครัวรุนแรง มีปัญหาทางธุรกิจมาก ๆ ) พอไปปฏิบัติธรรมแล้ว กลับออกมา ก็สรุปว่า ตัวเองได้พบเจอคู่บุญ หรือคู่ครองในอดีต  พบคนที่มีอดีตกรรมที่ได้ร่วมสร้างกันมา  จึงมาโทษคู่ครองปัจจุบันของตนว่า เป็นตัวปัญหา  ทำให้มีปัญหากับคู่รักหรือคู่ครองในปัจจุบันก็มี  


2. คนไปปฏิบัติธรรมบางคน  พอไปปฏิบัติธรรมได้ระยะหนึ่งแล้ว ก็คุยใหญ่ว่า ตัวเองได้เห็นนั่นนี่  ได้ไปที่นั่นที่นี่  ได้เห็นแสงสว่างอย่างนั้นอย่างนี้ ได้สัมผัสอะไรที่แปลกประหลาดที่คนทั่วไปไม่มีประสบการณ์ ได้พบคนนั้นคนนี้ (ที่เสียชีวิตไปนานแล้ว) ฯลฯ หรือการพูดว่า ตัวเองมีบุญมากอย่างนั้นอย่างนี้ เคยมีฐานะเป็นกษัตริย์ เป็นมหาราชที่ยิ่งใหญ่  แบบนี้ก็ไม่ควรพูด   

การรู้เห็นอะไรในระหว่างปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะเป็นอุปกิเลส (สิ่งหลอก ๆ นักปฏิบัติให้หลงติด) หรืออะไรก็ตาม  ควรรู้ให้เท่าทันและเก็บศึกษาส่วนตัว  ไม่ต้องพูดคุยโฆษณาหรืออวดโม้ให้ใครฟังแต่อย่างใด เว้นแต่สงสัยในหลักการที่ถูกต้อง แบบนี้ ก็สามารถสอบถามกับพระอาจารย์/อาจารย์ผู้ชำนาญได้ 

3. พระบางรูปในสำนักปฏิบัติธรรมบางแห่ง เมื่อพบเจอสตรีบางท่านที่สวยงามน่ารักดูดีดูมีฐานะมาอยู่ปฏิบัติธรรม ก็ชอบพูดทำนองว่า  ตัวเขา (พระที่พูด) เป็นสามีในชาติเก่าของเธอ (ผู้หญิงที่ปฏิบัติธรรม)  เราสองคนเคยเป็นเนื้อคู่ร่วมกันมา ฯลฯ อะไรแบบนี้   เรื่องนี้อันตรายมาก  ไม่ควรมีในสำนักปฏิบัติธรรมใด ๆ  ถ้ามีแสดงว่า ผิดปกติ 

เรื่องแบบนี้ ทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายตามมามาก  คือคนเป็นพระก็โอ้อวดหลอกลวง เอาอดีตชาติมากล่อมโยม   ผู้หญิงที่ไปปฏิบัติธรรมก็เชื่อง่าย พระพูดอะไรก็เชื่อไปหมด จึงถูกหลอก เสียทรัพย์สิน บ้างก็เสียตัวก็มี 

คนไปปฏิบัติธรรม ต้องไม่ไปหลงเชื่อคำพูดของพระบางรูปที่พูดทำนองว่า ชาติเก่า... เมื่อก่อน เราผูกพันกัน เป็นสามีภรรยากัน เป็นลูกพ่อกัน  เป็นสามีเก่าในอดีตชาติ เป็นคู่บุญกัน เคยได้ทำบุญร่วมกันมา ฯลฯ อะไรแบบนี้

คนไปปฏิบัติธรรม ต้องรู้เท่าทันพระเหมือนกัน เพราะพระที่ออกนอกลู่นอกทางก็มี ไม่ต้องไปส่งเสริม 


4. การปฏิบัติธรรมนั้น (ไม่ว่าจะปฏิบัติอยู่ที่บ้าน ในวัด หรือสถานที่ใด ๆ) มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ เพื่อฝึกจิตให้มีความตั้งใจมุ่งมั่น ให้มีความอดทน ให้มีสมาธิ ให้มีสติ ให้มีปัญญา จนเป็นพลังกล้าแกร่งจนสามารถลด ละ โลภะ (ความอยาก/ต้องการวัตถุกามและกิเลสกาม) โทสะ (หงุดหงิด โกรธ เคือง จองเวร ดุร้าย) โมหะ (โง่ หลง มัวเมา ไม่มีสติ) ให้เบาบางลง ให้ลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนไม่มีเหลือเลย   การปฏิบัติธรรมไม่ใช่การเพิ่มโลภะ โทสะ โมหะ ให้ตนเอง ไม่ว่าในกรณีใด ๆ และสถานที่ใด ๆ

ถ้าไปปฏิบัติธรรมแล้ว แต่ผู้ปฏิบัติธรรมกลับมี "โลภะ โทสะ โมหะ" เพิ่มมากขึ้น ๆ  แสดงว่า ปฏิบัติธรรมผิดทางแล้ว ให้รีบปรับเปลี่ยนและแก้ไขทันที 
เขียนโดย : สายด่วนชาวพุทธ
เขียนเมื่อ : 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
อ่าน : 4358