กรณีพระภิกษุฆ่าตัวตาย
ในระยะเวลา 10 กว่าปีมานี้ มีข่าวพระภิกษุสามเณรฆ่าตัวตายเพิ่มถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งพระภิกษุบวชใหม่และพระภิกษุบวชนาน ๆ หลายพรรษาแล้ว เป็นถึงเจ้าอาวาส เจ้าคณะ เป็นพระสังฆาธิการก็มี มีฐานะถึงระดับรองสมเด็จพระราชาคณะ ก็มี
พระภิกษุฆ่าตัวตาย นับว่า เป็นเรื่องร้ายแรงและเป็นปัญหาที่ใหญ่มากสำหรับพระพุทธศาสนาและสังคมพุทธไทย จึงเป็นสิ่งที่ชาวพุทธ พระสงฆ์ ผู้บริหารคณะสงฆ์ต้องตื่นและรีบหาหนทางลงมือแก้ไขโดยทันที ไม่มีข้ออ้างใด ๆ แล้ว
กรณีพระภิกษุฆ่าตัวตายนั้น คณะทำงานสายด่วนชาวพุทธ ใคร่ขอเสนอแนะไว้เป็นลายลักษณ์อักษรให้พิจารณาดังนี้
1.คณะสงฆ์ระดับสูง กล่าวคือ มหาเถรสมาคม ควรตั้งคณะทำงานในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะโดยเร่งด่วน เพื่อค้นหาสาเหตุ และแนวทางป้องกัน แก้ไข ไม่ให้มีพระภิกษุสามเณรฆ่าตัวตายอีก ควรทำทันที ไม่ควรเกี่ยง โยน หรือรอให้ใครเสนอเรื่องขึ้นไป
2. กลไกทำงานของคณะสงฆ์ เช่น สำนักงานเจ้าคณะภาค สำนักงานเจ้าคณะจังหวัด สำนักงานเจ้าคณะอำเภอ สำนักงานเจ้าคณะตำบล และคณะสงฆ์แต่ละวัด ควรถือเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วน ไม่ควรพูดหรือปล่อยให้เป็นไปแบบ "มันเป็นเช่นนั้นเอง,ก็คนมันอยากตาย,คนมันโง่ ฯลฯ"
3. การศึกษาของคณะสงฆ์ ควรได้รับการพิจารณาทบทวนปรับปรุง หลักสูตรใดที่จัดการเรียนการสอนแล้ว ไม่ได้มีส่วนทำให้พระภิกษุสามเณรเข้มแข็งทางสติ ทางปัญญา และกล้าแกร่งในจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา ควรลดความสำคัญลงไป เพราะเป็นการเรียนการสอนเพียงเพื่อได้ชื่อเสียง ได้เกียรติ ได้ยศ เห่อแหนกันเท่านั้น
4. ไตรสิกขา (การพัฒนาตนเองแบบองค์รวมครบถ้วนสมบูรณ์ 6 อินทรีย์) ควรได้รับการฟื้นฟูและทบทวนกันใหม่อย่างละเอียดและลึกซึ้ง ไม่แยกส่วน
5. อุดมการณ์วิถีสมณสงฆ์ ควรได้รับการปลูกฝัง ถ่ายทอดและฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
6. มูลกรรมฐาน (เกสา โลมา นขา ทันตา ตะโจ) ที่ผู้จะบวชต้องกล่าวขณะบรรพชาอุปสมบท ควรมีศึกษา เรียนรู้และแบบแผนการปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่ใช่สักแต่พูด ๆ พอเป็นพิธีแล้วปล่อยผ่านไป
7. เรื่องศรัทธาและการรักษาศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ควรได้รับการเรียนรู้ใหม่ในหมู่พระภิกษุสามเณรทุกระดับ
8. โลกธรรม 8 ขันธ์ 5 อายตนะ 12 ควรได้รับการเรียนรู้และฝึกเป็นปกติในชีวิตประจำวัน
9. ทิฐิ ทัศนะ ความเข้าใจต่อโลก ชีวิต สมณวิถี ฆราวาสวิถี กระบวนการเป็นไปของโลกฆราวาส ควรมีการตระหนักรู้ อย่างถูกต้องและจริงจัง เช่นรู้ว่า พฤติกรรมใด กิจกรรมใดที่พระสงฆ์ทำหรือเกี่ยวข้องแล้วจะถูกพัดพาถูกกลืนกลายไปเป็นเช่นวิถีแบบชาวบ้านผู้ครองเรือน อะไรที่ต้องช่วยกันระมัดระวัง หยุดยั้ง เป็นที่สุด ต้องเร่งเรียนรู้ ตระหนัก สำนึก วางระเบียบกติกาปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานร่วมกัน
10. คารวตา 6 (ความเคารพ 6) ต้องได้รับการฟื้นฟูและปฏิบัติอย่างจริงจังทั้งระดับตัวบุคคลและระดับองค์กรทุกระดับในหมู่ชาวพุทธ
ผลเสียจากการที่พระภิกษุฆ่าตัวตายนั้นมีมาก
-ระดับตัวผู้กระทำการเองนั้น เขาได้ตัดโอกาสทางกุศลของตนเองไปหมดสิ้นแล้ว
-ระดับสังคม ญาติสูญเสียบุคคลในครอบครัวไป สังคมไทยสูญเสียบุคลากรของชาติไป โลกสูญเสียพลเมืองโลกไปในรูปแบบที่ไม่สมควร
- ระดับพระพุทธศาสนาคือ หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่กล่าวว่าดีเลิศนั้น ถูกท้าทาย คือช่วยให้คนมีสติ มีปัญญาไม่ได้ ไม่สามารถทำให้คนปล่อยวาง ลด ละ และเอาชนะโมหะของตนเองได้ กระทั่งพระภิกษุยังฆ่าตัวตายเลย พระพุทธศาสนาจึงไม่ได้สำคัญอะไรกับโลกและสังคม
-ระดับองค์กรทางพุทธศาสนา เช่น มหาเถรสมาคม ไม่มีความสามารถในการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างลุ่มลึกให้กับศาสนิกของตนเอง ไม่สามารถพัฒนาระบบและบริหารกิจการคณะสงฆ์ให้เป็นไปในทิศทางที่เป็นสังฆสามัคคีเป็นกุศล ไม่สามารถเป็นผู้นำที่เข้มแข็งทางศีลธรรมและภูมิปัญญาให้ชาวโลกได้
-ระดับบุคลากรคณะสงฆ์ คือพระภิกษุรูปต่าง ๆ อยู่ใครอยู่มัน ไม่สนใจใคร ไม่ได้ใส่ใจต่อกัน ไม่รวมพลังสร้างสรรค์ดูแลกันและกัน ไม่ช่วยเหลือกันให้เดินหน้าสู่จุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา แต่ห่วงและสนใจเฉพาะประโยชน์ตนเอง ประโยชน์วัดของตนเองเท่านั้น
-สถาบันการศึกษาทางพระพุทธศาสนา มีมากมาย ทั้งระดับวัด รวมถึงมหาวิทยาลัยคณะสงฆ์ แต่กลับไม่มีพลังหรือแรงขับเคลื่อนพระสงฆ์และองค์กรทางศาสนาของตนเองไปสู่สถานะที่ดีกว่าได้ จึงเป็นเพียงสถานประกอบวิชาชีพ รับจ้างทำงานหารายกันไปวัน ๆ เท่านั้น
สายด่วนชาวพุทธ เป็นเพียงกลุ่มอาสาสมัครเล็ก ๆ ไม่ได้มีอำนาจทางกฏหมาย และไม่มีทรัพยากรใด ๆ ที่จะไปแก้ไข ปรับปรุง หยุดยั้งปัญหาของพระภิกษุฆ่าตัวตายได้ จึงทำได้เพียงสะท้อนความคิดและสิ่งที่คาดหวังออกมาเท่านั้น
จึงหวังว่า สิ่งที่สะท้อนออกมานี้ จะกระทบถึงหูสะท้อนถึงตาของผู้ที่มีอำนาจโดยตรง และหวังว่า ท่านเหล่านั้นจะตื่นตัว ตื่นตา ไม่วางเฉย จะเอาภาระธุระและเร่งดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องตลอดไป
ด้วยความเคารพอย่างสูง
คณะทำงานสายด่วนชาวพุทธ
3 กันยายน 2566
เขียนโดย : สายด่วนชาวพุทธ
เขียนเมื่อ : 3 กันยายน พ.ศ. 2566
อ่าน : 740